แชร์ประสบการณ์มีบัตรเครดิตใบแรก
อาทิตย์ที่แล้วเห็นมีประเด็นเรื่องบัตรเครดิตใบแรกโผล่เข้ามาในฟีดทวิตเตอร์ ซึ่งความเห็นก็แตกออกไปทั้งในแง่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการมีบัตรเครดิต (โดยเฉพาะกับคนที่เพิ่งเรียนจบและกำลังเริ่มชีวิตมนุษย์เงินเดือนใหม่ๆ) วันนี้เลยอยากเขียนแชร์ประสบการณ์เกี่ยวกับบัตรเครดิตใบแรก (และใบเดียว) ที่ใช้อยู่ในตอนนี้สักหน่อย
หากพูดถึงบัตรเครดิต สิ่งแรกๆ ที่นึกถึงกันน่าจะเป็นเรื่องของ “หนี้” บัตรเครดิต ที่ทำให้หลายคนถึงกับต้องขายบ้านขายรถเพื่อใช้หนี้บัตรเครดิตเหล่านี้กันเลยทีเดียว แต่เอาจริงๆ แล้วบัตรเครดิตถ้าใช้แบบมีวินัยสักหน่อย มันก็จะมีประโยชน์อยู่ไม่น้อยเลย เช่น
- ของตอบแทนต่างๆ ไม่ว่าจะสะสมแต้มแลกของสมนาคุณ, สะสมไมล์สายการบิน, หรือเครดิตเงินคืน
- โปรโมชันร่วมกับร้านค้าต่างๆ เช่นส่วนลดพิเศษ
- โปรโมชันผ่อนสินค้าดอกเบี้ย 0%
- ประกันคุ้มครองการเดินทาง
- ฯลฯ แล้วแต่บัตร
เนื่องจากก่อนหน้านี้ผมทำงาน Freelance เป็นหลัก ทำให้การสมัครบัตรเครดิตนั้นเป็นเรื่องที่ค่อนข้างลำบาก ทำให้เวลาจะซื้อของใดๆ ต้องจ่ายด้วยเงินสดก้อนโตแทน (ซื้อโน้ตบุ๊กหนึ่งเครื่อง เงินหายไปจากบัญชี 45k นี่ก็เป๋เหมือนกันนะ) แต่ตอนนี้ย้ายมาทำงานประจำได้สักพักหนึ่งแล้วเลยตัดสินใจว่าสมัครบัตรเครดิตไว้สักใบดีกว่า เพื่อใช้กระจายความเสี่ยงตรงนี้
บัตรเครดิตใบแรก
หลังจากส่องเว็บเปรียบเทียบบัตรเครดิตเรียบร้อย (ขอบคุณ GoBear.com มา ณ ที่นี้) จึงตัดสินใจได้ว่าบัตรประเภทที่เหมาะกับเราที่สุดคือบัตรประเภทเครดิตเงินคืน เพราะเน้นใช้จ่ายทั่วไปเป็นหลัก และสรุปออกมาได้ว่าบัตรที่เลือกคือ Citi Cashback Platinum ซึ่งมันมีคุณสมบัติประมาณนี้
- คืนเงิน 1% ทุกยอด
- คืนเงิน 5% เมื่อซื้อของร้าน Boots หรือ Watsons หรือจ่าย Grab
- คืนเงิน 11% เมื่อเติมบัตรรถไฟฟ้า BTS/MRT (ARL ไม่ได้คืน) – จริงๆ ตอนๆ สมัครเป็นคืน 5% แต่สมัครได้เดือนเดียวก็ปรับเปอร์เซ็นต์เป็น 11% ตามโปรใหม่
- มีประกันการเดินทางแถมให้ ถ้าจ่ายค่าตั๋วเครื่องบินด้วยบัตร
- Citi Bank มีบริการ PayLite ผ่อนสินค้า 0% นานสูงสุด 10 เดือน ซึ่งครอบคลุมร้าน IT หลายราย ทั้ง IT Mall, JIB, และ Apple
- ใช้เกิน 60,000 บาทต่อปี ฟรีค่าธรรมเนียม (ในความเป็นจริงถ้าไม่ถึงก็โทรไปขอเว้นได้)
เงินเดือนขั้นต่ำ 15,000 บาท ทำงานอย่างน้อย 3 เดือน เกณฑ์ผ่าน สมัครเรียบร้อย ผ่าน ได้บัตรมาแล้ว
ใช้บัตรไม่ให้เป็นหนี้
มายาคติอย่างหนึ่งที่ทำให้คนเป็นหนี้บัตรเครดิต คือการใช้บัตรเกินกำลังจ่าย โดยคิดว่าวงเงินในบัตรเป็นส่วนต่อขยายของเงินเดือนเดือนนี้ เดี๋ยวพอเงินออกก็ค่อยเอามาจ่าย
แต่จริงๆ เงินในอนาคตเป็นอะไรที่ไม่ได้มีความแน่นอนเลย เราอาจจะคิดว่าเงินเดือนเราเท่านี้ แบ่งมาจ่ายเท่านี้ยังเหลือใช้สบายๆ แต่ในความเป็นจริงแล้วมันมักจะมีเรื่องมาให้เสียเงินจนเงินไม่พออยู่เรื่อยๆ หรือบางทีอาจจะคิดว่าถ้าไม่พอก็จ่ายขั้นต่ำเอาก่อน ซึ่งก็จะทำให้ยอดใช้จ่ายนั้นๆ ถูกเอาไปคิดดอกเบี้ยพอกขึ้นไปเรื่อยๆ จนสุดท้ายก็กลายเป็นหนี้บัตรเครดิต
หากลองค้นดูจะพบว่าทุกคนบอกเหมือนกันคือ
- อย่าใช้บัตรเกินเงินสดที่มี
- จ่ายบิลบัตรให้ตรงเวลา
- จ่ายเต็มจำนวนเท่านั้น ห้ามจ่ายขั้นต่ำ
ส่วนตัวผมอยากเพิ่มให้อีกสองข้อคือ 1.) กรณีเดียวที่จะใช้เงินเกินเงินสดที่มีคือกรณีฉุกเฉิน เช่นสำรองจ่ายเมื่อเข้าโรงพยาบาล หรือต้องซื้อเครื่องมือทำมาหากินใหม่ 2.) เมื่อจะผ่อนอะไรสักอย่างด้วยบัตรเครดิต ควรมีเงินสดสำรองไว้ครึ่งหนึ่ง หรืออย่างน้อยหนึ่งในสามของยอดที่จะผ่อน
เคยมีคนแนะนำผมว่าเวลาจะซื้อของให้เราเก็บเงินให้ได้ 100% ของราคาสินค้า จากนั้นใช้บัตรเครดิตผ่อน 0% แทน ส่วนเงินที่เก็บได้นั้นให้เอาไปลงทุนระยะสั้น ซึ่งผลกำไรที่จะได้จากการลงทุนนี้จะถือว่าเป็นส่วนลดค่าสินค้าไปได้ในตัว
ข้อควรระวังอีกอย่างคืออย่าหลงโปรต่างๆ โดยไม่จำเป็น เช่นโปรทานครบ 1,000 บาทได้ลด 10% (หักลบแล้วเหลือ 900) ถ้าปกติเราทานไม่ถึง ก็ไม่ต้องไปสั่งให้ครบ 1,000 บาทเนอะ ???? (ทั้งนี้นานๆ ทีจะเอาบ้างก็ไม่ว่ากัน อย่าไปสอยทุกโปรก็พอ)
เทคนิคบริหารเงินเล็กๆ น้อยๆ
ตรงนี้มาจากการที่เรารู้ตัวว่าเป็นคนที่มีนิสัยเสียอย่างหนึ่งคือเป็นคนที่เมื่อเห็นมีเงินเหลือเยอะ ก็จะใช้เงินเยอะขึ้นตามไปด้วย ดังนั้นเลยต้องหาวิธีให้เราเห็นเงินตามที่ใช้ไปจริงๆ ใช้เท่าไหร่ก็ลดหายไปเท่านั้นจริงๆ ไม่อย่างนั้นรูดเพลินแน่นอน
วิธีที่ผมใช้คือไปเปิดบัญชีธนาคารอีกธนาคารหนึ่ง โดยเปิดเป็นบัญชีเปล่าๆ ไม่ต้องทำบัตร ATM แล้วติดตั้งแอพแบงก์ลงในมือถือ ในกรณีนี้ผมไปเปิดบัญชีกรุงศรี เพราะแอพหน้าตามันน่าใช้ดี จากนั้นเมื่อมีการรูดจ่ายไปเท่าไหร่ ก็จะกดโอนเงินจากบัญชีหลักเข้าไปเก็บในบัญชีกรุงศรีทันทีตามจำนวนที่จ่ายไป (แรกๆ อาจจะไม่ชิน แต่ทำไปสักพักๆ มันจะอัตโนมัติขึ้นมาเอง)
ที่ทำอย่างนี้ว่าเป็นเหตุผลทางจิตวิทยาครับ เพราะเมื่อเราเห็นเงินลดลงไปเรื่อยๆ มันจะเริ่มรู้สึกว่าเงินใกล้หมดแล้วนะ ก็จะช่วยชะลอการใช้เงินลงได้ ช่วยประหยัดและช่วยตั้งสติก่อนที่จะควักเงินจ่ายอะไรออกไป
เมื่อถึงกำหนดจ่ายค่าบัตรเครดิต ผมจะเอาสเตทเมนต์ของบัตรเครดิตมาตรวจดูอีกครั้งกับยอดโอนออกจากบัญชีหลัก และยอดโอนเข้าของแบงก์กรุงศรีว่ายอดตรงกันหรือไม่ เมื่อตรวจสอบเรียบร้อยแล้วจึงค่อยกดจ่ายเงิน (ธ.กรุงศรีสามารถจ่ายบัตรซิติแบงก์ได้ฟรี ซึ่งจริงๆ น่าจะฟรีทุกแบงก์อยู่แล้ว เพราะซิติแบงก์จ่ายผ่านพร้อมเพย์ได้)
ด้วยความที่บัตรเครดิตใบนี้ให้เงินคืน 1% ในทุกยอดที่รูด ดังนั้นถ้ามีโอกาสที่สามารถจ่ายได้ด้วยบัตรเครดิตก็จะใช้บัตรเครดิตจ่าย (ทั้งนี้อย่าไปหลงจ่ายร้านที่ชาร์จเพิ่ม 3% ล่ะ ไม่คุ้ม และถ้าเจอร้านไหนชาร์จเพิ่มให้โทรฟ้องแบงก์ให้มายึดเครื่องรูดได้เลย เพราะแบงก์จะห้ามร้านชาร์จลูกค้าเพิ่มอยู่แล้ว) นั้นเท่ากับว่าเราจะได้ส่วนลด 1% ในทุกๆ ยอด ซึ่งเงื่อนไขของบัตรใบนี้จะคืนเงินให้ช่วงวันสรุปยอด โดยจะคืนมาทีละ 100 บาท
การจ่ายทุกอย่างด้วยบัตรเครดิตอาจจะทำให้ยอดดูน่าตกใจนิดหน่อย (อาจจะเด้งไปได้ถึงสองหมื่น) แต่ยอดเงินคืนก็ถือว่ามาเป็นส่วนลดค่าเน็ตค่าโทรศัพท์ไปที่สำคัญที่สุดคือต้องรักษาวินัยการเงินแบบนี้ให้ได้ตลอดด้วย
จริงๆ แล้วนอกจากบัญชีสำหรับพักเงินค่าบัตรเครดิต ผมยังมีอีกบัญชีเอาไว้สำหรับเงินใช้แต่ละสัปดาห์ด้วย โดยตอนนี้บัญชีหลักผมมี 3 บัญชี คือ
- ธ.กรุงเทพ บัญชีเงินเดือน (ไม่มีบัตร)
- ธ.กรุงศรี บัญชีพักเงินบัตรเครดิต (ไม่มีบัตร)
- ธ.กสิกร บัญชีเงินรายสัปดาห์ (มีบัตร)
โดยในแต่ละสัปดาห์ผมจะโอนเงินจาก ธ.กรุงเทพ เข้าไปยัง ธ.กสิกร อาทิตย์ละ 3,000 – 3,500 บาท (บางอาทิตย์ก็ 4,000 ถ้ามีแววต้องใช้เยอะ) ซึ่งก็ช่วยคุมค่าใช้จ่ายได้ดีระดับหนึ่งด้วยเหตุผลด้านจิตวิทยาเหมือนกันคือพอเห็นเงินที่กดได้เหลือน้อย มันก็จะใช้น้อยลงตามไป
เครดิตบูโร
มีคนเคยบอกผมว่าการมีประวัติชำระหนี้ที่ดี มีผลบวกกับเครดิตมากกว่าการไม่มีประวัติหนี้เลย ซึ่งจะทำให้การขอสินเชื่อต่างๆ สามารถทำได้ง่ายขึ้น ดังนั้นแล้วการที่ย้ายค่าใช้จ่ายต่างๆ มาลงที่บัตรเครดิต ติดตามยอดใช้จ่ายอย่างใกล้ชิด ชำระเต็มจำนวนและตรงเวลา จะทำให้ประวัติของเราดูเป็นบวกมากขึ้นด้วย
อันนี้ผมไม่แน่ใจว่าจริงหรือเปล่านะ
สรุป
ทั้งหมดทั้งปวงแล้ว ปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการใช้เงินใดๆ นั่นคือวินัยทางการเงินครับ แม้ว่ารายได้คุณจะสูงแต่ถ้าวินัยการเงินคุณไม่ดี ก็ทำให้ตกที่นั่งลำบากได้อยู่เหมือนกัน